บทที่ 1ความเป็นมาและความสำคัญของธุรกิจโรงแรม

บทที่ 1
ความเป็นมาและความสำคัญของธุรกิจโรงแรม
โรงแรม หมายถึง สถานที่ประกอบการเชิงการค้าที่นักธุรกิจตั้งขึ้น เพื่อบริการผู้เดินทางในเรื่องของที่พักอาศัย อาหาร และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยและเดินทาง หรืออาคารที่มีห้องนอนหลายห้อง ติดต่อเรียงรายกันในอาคารหนึ่งหลังหรือหลายหลัง ซึ่งมีบริการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาพัก ซึ่งเรียกว่า "แขก" (guest)
คำว่า hotel หรือ โรงแรมมีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลว่า คฤหาสน์ โรงแรมแห่งแรกในยุโรปคือ Hotel de Hanri IV (โฮเทล เดอ อองรี กัต) เมื่อปี ค.ศ. 1788 โดยในสมัยก่อนใช้คำว่า hôtel และภายหลังได้เปลี่ยนตัวโอมาเป็นโอปกติในภาษาอังกฤษเป็น hotel เหมือนปัจจุบัน

ความเป็นมาของธุรกิจที่พักในประเทศไทย
   ในครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกไว้ว่า ประชาชนชาวสยามได้มีการติดต่อการค้าพาณิชย์กับชาวยุโรปและจีน ตลอดจนทางการทูต, การเมือง, การทหาร และอื่น ๆ มาก่อน ซึ่งการเดินทางการค้าขายต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีการเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่ที่อื่น ๆ อยู่มาก การเดินทางต่าง ๆ เหล่านี้ หากเป็นพ่อค้าพาณิชย์ธรรมดา การเดินทางก็จะอาศัยที่พักกลางทางหรือวัดวาอารามต่าง ๆ และหากเป็นนักการทูตหรือพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ตามจวนเจ้าเมือง หรือบ้านเศรษฐีคหบดี หรือบ้านญาติต่าง ๆ ที่คุ้นเคยกัน และการเดินทางติดต่อการค้าต่าง ๆ เหล่านี้ ได้มีการบันทึกไว้มากมาย 

สมัยกรุงศรีอยุธยา 
จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ได้เข้ามากรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1687) ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยและได้กล่าวถึงการรับรองแขกเมืองในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ เรื่องราวที่เกี่ยวกับอาณาจักรสยาม ที่มีบ้านพักสำหรับราชทูตสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงเรื่องการรับทูตต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยรัชกาลที่ 4

การโรงแรมในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง โดยเริ่มขึ้นหลังจากคณะทูตของหม่อมราโชทัยกลับจากเยือนยุโรป ดังจะเห็นได้จากหนังสือภาษาอังกฤษที่พิมพ์จำหน่ายในประเทศไทย ออกเป็นรายปี ชื่อ Bangkok Calendar ของหมอบรัดเลย์ นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ยังโปรดให้สร้างที่พักตากอากาศขึ้นที่ตำบลอ่างหิน จ.ชลบุรี พร้อมกันนั้นได้สร้างท่าจอดเรือสำหรับคนขึ้นบกไว้ด้วย บ้านพักตากอากาศแห่งนี้ต่อมาเป็นบ้านพักคุรุสภาและปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

จากหลักฐานหนังสือบางกอกคาแลนดาร์ (Bangkok Calendar) ของหมอบรัดเลย์ (D.B. Bradley) ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในประเทศไทยออกเป็นรายปี พบว่าในปี 


พ.ศ. 2407 (ค.ศ.1864) มีประกาศแจ้งความ 3 โรงแรม คือ 
1. Union Hotel
2. Oriental Hotel
3. Fisher’s Hotel
 

พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865) 2 โรงแรม คือ 
1. Union Hotel
2. Oriental Hotel

พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) แจ้งความเหลือเพียงโรงแรมเดียว คือ Union Hotel เพราะเกิดเพลิงไหม้
พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) มีลงแจ้งความไว้ 2 โรงแรม คือ Union Hotel และ Falck’s Hotel
พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) มีโรงแรมลงแจ้งความโรงแรมเดียว คือ Union Hotel

นอกจากโรงแรมในกรุงเทพฯแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าที่ตำบลอ่างหิน แขวงเมืองชลบุรี เพราะที่อากาศดีการทำเป็นสถานที่ตากอากาศให้พวกฝรั่งไปพักผ่อนได้ ลักษณะของโรงแรมเป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ต่อมาได้ชื่อว่า ตำหนักมหาราชาและตำหนักมหาราชินี มีเตียงนอนไว้บริการรวม 44 เตียง เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างประเทศที่เดินทางพักผ่อนตากอากาศ

สมัยรัชกาลที่ 5

พระองค์ทรงปรับปรุงประเทศ ด้วยการนำความเจริญทางด้านเทคโนโลยีจากยุโรปเข้ามาในประเทศ มีชาวต่างประเทศเดินทางมาติดต่อค้าขายและติดต่อราชการงานเมืองมากขึ้น ความต้องการที่พักมีเพิ่มขึ้น จากหลักฐานในหนังสือ Bangkok Calendar ของหมอบรัดเลย์ ฉบับนี้ พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870 มีลงแจ้งความ 6 โรงแรม)

1.Union Hotel
2. Falck’s Hotel
3. German Hotel
4. Hamburg Hotel
5. Marine Hotel
6. Siam Hotel


บางโรงแรมนอกจากมีบริการห้องพักและอาหารแล้ว ยังมีบิลเลียดและโบว์ลิ่งบริการให้แก่ลูกค้าผู้มาพักด้วย พ.ศ. 2419 (Oriental Hotel ค.ศ. 1867) นักเดินทางเรือชาวเดนมาร์ค 2 คน คือ จาร์ค (H.Jarck) และ ซาล์จ (C. Salje) ได้สร้างโรงแรมโอเรียลเต็ลขึ้นที่แขวงสี่พระยา เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว สร้างขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีจำนวนห้องพักไม่มากนัก จัดเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในยุคในสมัยนั้น เป็นโรงแรมแห่งแรกในประเทศไทยที่มีไฟฟ้าใช้ โรงแรมแห่งนี้ได้ดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการหลายคน ปี พ.ศ. 2483 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดเป็นกองบัญชาการของทหาร เมื่อสงครามเลิกในปี พ.ศ.2486 ก็ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของกองทัพสหประชาชาติ นับว่าเป็นระยะที่โรงแรมทรุดโทรม ในปี พ.ศ. 2520 ได้สร้างอาคารใหญ่เพิ่มอีก 2 หลัง มีห้องพักจำนวน 406 ห้อง ประกอบด้วยห้องชุดที่หรูหรา จำนวน 21 ห้อง มีพร้อมทั้งห้องรับแขกและห้องอาหาร มีที่จอดรถกว้างขวางสามารถจอดรถได้ 350 คัน นอกจากนี้บริเวณโรงแรมจัดให้มีสระว่ายน้ำ สนามเทนนิสไว้บริการแก่ลูกค้า เป็นโรงแรมที่มีบุคคลสำคัญและนักธุรกิจต่างประเทศมาพักมากมาย 

โรงแรมโอเรียลเต็ล จึงได้รับการยกย่องเป็นโรงแรมชั้นเยี่ยม อันดับ 1 ของโลกในปี พ.ศ. 2524

โรงแรมโอเรียลเต็ล (สมัยรัชกาลที่6–สมัยรัชกาลที่ 8)

  • พ.ศ. 2454 ก่อนและระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 Mr. C. Paberge ช่างทองและเครื่องเพชรแห่งราชสำนักพระเจ้าชาร์มาร่วมงาน Coronation แล้วยังนำเครื่องเพชร เครื่องประดับมาแสดงที่โรงแรมโอเรียลเต็ล
  • พ.ศ. 2455 งานสถาปนาสมาคมฝรั่งเศสที่โอเรียลเต็ล
  • พ.ศ. 2459 การแสดง Ballet ครั้งแรกในเมืองไทย โดยยอดระบำบัลเล่ต์ Nijinsky ที่ Concert Hall โรงแรมโอเรียบเต็ล
  • พ.ศ. 2460 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม สยามประกาศสงครามกับเยอรมันนีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพักมิได้ลดลงเลย
  • พ.ศ. 2467 Maria Maire ได้จัดตั้งบริษัท Oriental Hotel Co., Ltd. ขึ้น
  • พ.ศ. 2474 มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่มาโดยเครื่องบินลงที่ดอนเมือง นับเป็นลูกค้ารายแรกของโอเรียลเต็ลที่มาทางอากาศ
  • พ.ศ. 2485 กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองโอเรียลเต็ล
  • พ.ศ. 2488 เดือนสิงหาคม ทหารญี่ปุ่นถอนตัวไป ทหารดัชท์จักรภพอังกฤษและออสเตรเลียเข้ายึดครองโอเรียลเต็ล
  • พ.ศ. 2489 หน่วยทหารอากาศสหรัฐ เข้ายึดครอง โรงแรมโอเรียลเต็ล (สมัยรัชกาลปัจจุบัน) เมื่อทหารสหรัฐกลับไปแล้ว Mrs. Germaine Krull และ Col. Jim Thompson (พันเอกจิม ทอมป์สัน ผู้ซึ่งต่อมา คือ “ราชาไหมไทย”)
  • พ.ศ. 2501 เปิดอาคาร Tower Wing เมื่อ 1 เมษายน นี้ 10 ชั้น 48 ห้องพัก (ตึกเดิมมีประมาณ 40 ห้อง รวมเป็นห้องพักทั้งหมด 80 กว่าห้อง ) ชั้นบนสุดเป็นห้องอาหาร “Normandie Grill”
  • พ.ศ. 2510 บริษัทสยามโฮเต็ล ซินดิเคท (Siam Hotel Syndicate Co., Ltd.) ในเครือบริษัทอิตัลไทยได้ซื้อกิจการ ต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัทฮ่องกงแลนด์ในฮ่องกงให้ Mandarin International Hotels บริหาร
  • พ.ศ. 2520 สร้างอาคาร River Wing บนที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และที่ดิน ซึ่งซื้อมาจาก Chartered Bank เป็นอาคาร 16 ชั้น อาคารจอดรถ 5 ชั้น จอดได้ 350 คัน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท
ปัจจุบันโรงแรมโอเรียลเต็ล ประกอบด้วยอาคารใหญ่ 3 หลัง คือ 
1. Author Wing 
2. Tower Wing 
3. River Wing 

โรงแรมโอเรียลเต็ล มีห้องพักรวมทั้งสิ้น 406 ห้อง แบ่งเป็นห้องชุด (Suite) 22 ห้อง ห้องใหญ่ที่สุด คือ “Oriental Suite” ตกแต่งหรูหรามาตรฐานโลก ประกอบด้วยห้องนอนใหญ่ พร้อมเตียงคู่ ห้องนอนสำรองอีก 1 ห้อง ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหารขนาด 12 คน พร้อมทั้งบาร์ ห้องเตรียมอาหาร (pantry) อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และมีห้องน้ำ 5 ห้อง นอกจากนี้ยังมี ห้องคอฟฟี่ชอฟ ห้องอาหารต่าง ๆ ห้องจัดเลี้ยง ศูนย์การค้าและอื่น ๆ โรงแรมยังมีเรือนำเที่ยว 2 ลำ คือ 

1. Oriental Queen 
2. Orchid Queen 

พ.ศ. 2524 โรงแรมโอเรียลเต็ลได้คะแนนสูงสุดในการคัดเลือก โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก (The Best Hotel in the world)



โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ (Mandarin Oriental Bangkok )



สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-พ.ศ. 2468)

โรงแรมในสมัยนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เดินทางทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ ทำให้มีโรงแรมเกิดขึ้นหลายแห่งทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลที่สร้างขึ้นครั้งแรก ได้แก่ โรงแรมหัวหิน (พ.ศ. 2465)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2460 ทรงขอแบ่งซื้อที่ดินจากกรมพระนเรศวรฤทธิ์ มาเป็นของกรมรถไฟ จัดสร้างบังกะโลเรือนไม้ริมทะเลขึ้นที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้เช่าพัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 ทรงบัญชาให้กรมรถไฟสร้างโฮเต็ลตึกแบบยุโรปขึ้น 1 หลัง ย้ายบังกาโลเดิมไปปลูกที่ใหม่ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2465 เรียกว่า โรงแรมหัวหิน ซึ่งเป็นโรงแรมชายทะเลแห่งแรกของไทย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 128,634.94 บาท มีเตียง 28 เตียง ภายในบริเวณโรงแรมมีสนามกอล์ฟและสนามเทนนิส ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่มาพักอีกด้วย 

โรงแรมรอยัล (พ.ศ. 2454) 
เป็นโรงแรมที่เกิดขึ้นใหม่ บริเวณถนนสาธรเหนือ เป็นตึก 3 ชั้น บันไดหินอ่อนมีระเบียง Balconies ตกแต่งภายในด้วยไม้แกะสลัก มีสนามและสวนหย่อมรอบ ๆ ตัวตึกทุกห้องมีพัดลม กริ่งและแสงสว่างจากไฟฟ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ชื่อว่า “Royal hotel” ปัจจุบัน คือ สถานทูตรัสเซีย


โรงแรมรอยัล (Royal Hotal)


สมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468- พ.ศ. 2477)

โฮเต็ลวังพญาไท (พ.ศ. 2469) หรือโรงแรมวังพญาไท 
โฮเต็ลวังพญาไท เกิดขึ้นจากการที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สร้างโรงแรมที่หัวลำโพง เมื่อ พ.ศ. 2469 แต่ไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ และมีพระราชประสงค์จะให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวังพญาไทเป็นโรงแรม เพราะมีบริเวณกว้างขวาง และต้องสิ้นเปลืองเงินในการบำรุงรักษามาเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อจากวังพญาไท เป็นโรงแรมวังพญาไท เพื่อให้ชาวต่างประเทศพักแรมภายในบริเวณโรงแรมมีความงดงาม หรูหรา จากการตกแต่งด้วยศิลปะที่วิจิตรการตา เพราะเป็นพระราชวังมาก่อน โดยเฉพาะ “ห้องจักรี” ซึ่งเคยเป็นห้องบรรทม ราคาคืนละ 120 บาท โรงแรมวังพญาไท ได้รับการยกย่องว่า เป็นโรงแรมเดอลุกซ์แห่งแรกของเมืองไทย และเป็นโรงแรมที่ทันสมัย และยอดเยี่ยมที่สุดของเอเชียในสมัยนั้น ตัวโรงแรมประกอบด้วยห้องรับรองห้องอาหาร ไนต์คลับ บาร์ ห้องนั่งเล่น ห้องเขียนหนังสือ ที่จอดรถ ห้องเต้นรำ (Ballroom) ห้องพักมีประมาณ 60 ห้อง แบ่งเป็นห้องธรรมดาและห้อง Deluxe ไว้บริการแก่ลูกค้าของโรงแรม ส่วนบริเวณรอบ ๆ โรงแรมเป็นบึงดอกบัวนานาชนิด และสวนไม้ดอก ไม้ประดับ ที่จัดแบบสวนญี่ปุ่น มีน้ำตก น้ำพุ สวยงามมาก 

ปัจจุบันโรงแรมวังพญาไท เป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎ ตามคำสั่งคณะปฏิวัติในสมัยรัชกาลที่ 7
 

โรงแรมทรอคาเดโร (พ.ศ. 2470) 
เดิมมีลักษณะเป็นบังกาโล เจ้าของที่ดิน คือ พระยาประภากรวงศ์ (ว่อง บุนนาค) เป็นโรงแรมของเอกชน สร้างปี พ.ศ. 2470 โดยกู้เงินจาก National Provincial Bank ประเทศอังกฤษ โดยมี คุณฉวี บุนนาค บุตรสาวซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษเป็นผู้จัดการคนแรกและควบคุมการก่อสร้างโรงแรม ที่บริเวณถนนสุรวงศ์มีจำนวน 2 อาคาร เป็นอาคาร 4 ชั้น 3 ชั้น แบ่งเป็นห้องพัก จำนวน 45 ห้อง ส่วนล่างประกอบด้วย ห้องอาหาร บาร์ ห้องครัว และห้องสำหรับต้อนรับลูกค้าและเป็นโรงแรมแห่งแรกในประเทศไทยมีเครื่องปรับอากาศ และลิฟต์ใช้ จัดเป็นโรงแรมที่มีความหรูหราและทันสมัยมากแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือ โรงแรมนิวทรอคาเดโร 

โรงแรมราชธานี (พ.ศ. 2470) 
รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สร้างโรงแรมปลายทาง (Rest House) ที่สถานีหัวลำโพง เพื่อเป็นที่พักของประชาชนที่เดินทางมาโดยรถไฟ มีห้องพัก 14 ห้อง มีห้องเต้นรำ ห้องอาหาร บาร์ ห้องครัว ต่อมาประสบอุปสรรค และปัญหามากมายต้องเลิกกิจการในปี พ.ศ. 2511 ปัจจุบันเป็นกองคลังพัสดุรถเสบียงการรถไฟแห่งประเทศไทย

สมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477-พ.ศ. 2489)

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สร้างอาคารสองข้างถนนราชดำเนินกลาง คือ โรงแรมรัตนโกสินทร์และโรงแรมสุริยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อรองรับแขกเมืองโดยให้บริการที่ดีเยี่ยม จนมีชื่อเสียงประกอบกับทำเลที่ตั้งในแหล่งชุมชน ต่อมามีโรงแรมเกิดขึ้นมากมายและมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้โรงแรมทั้งสองลดความสำคัญลงเพราะทำเลที่ตั้งแออัด จอแจ ความสะดวกในการเดินทางและหาที่จอดรถ
ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้เอกชนดำเนินการต่อโดยเปลี่ยนชื่อโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นโรงแรมรอยัล (Royal Hotel) และโรงแรมสุริยานนท์เป็นโรงแรมมาเจสติก (Majestic Hotel)
โรงแรมรัตนโกสินทร์และโรงแรมสุริยานนท์แล้ว ยังมีโรงแรมในเครืออีก คือ โรงแรมบางแสน ตั้งอยู่ที่บางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นโรงแรมตากอากาศ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489)

พ.ศ. 2522 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนรวม การลงทุนภาคเอกชนในกิจการโรงแรมได้เพิ่มมากขึ้น จะกล่าวเฉพาะโรงแรมที่สำคัญเป็นตัวอย่าง และต้นแบบโรงแรมเดอลุก์ ได้แก่ 

โรงแรมเอราวัณ (Erawan Hotel) 
สมัยก่อนโรงแรมใหญ่ ๆ พอที่จะรับรองแขกบ้านแขกเมืองในกรุงเทพฯ ยังไม่มีนักท่องเที่ยวที่แวะมากรุงเทพฯ ก็เกิดปัญหาในการหาที่พัก บริษัทสายการบินต่าง ๆจึงประชุมหารือกันในการจะมาลงทุนตั้งโรงแรมขนาดใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ โดยมี พลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้นำเอาโครงการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ หารือคณะรัฐมนตรีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็นรูปบริษัทจำกัด เรียกว่า “บริษัท สหโรงแรมกรุงเทพฯ จำกัด” เดิมมีโครงการก่อสร้างโรงแรมบริเวณสวนลุมพินี แต่ถูกยับยั้งเพราะเป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 6 ทรงประทานให้เป็นที่สาธารณะแก่ประชาชนได้พักผ่อน จึงเปลี่ยนโครงการมาซื้อที่ดินที่มุมสี่แยกราชประสงค์ บนพื้นที่ 9 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2494 ระหว่างการก่อสร้างมีอุปสรรคมากมาย และได้สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2498 การก่อสร้างยังไม่เสร็จจึงได้สร้างเทวสถานท่านท้าวมหาพรหมขึ้น ในบริเวณโรงแรม ในที่สุดการก่อสร้างโรงแรมก็สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2499 ในระหว่างเริ่มเปิดดำเนินกิจการ ประสบปัญหามากมาย ด้านพนักงานบริการไม่มีความรู้ ความชำนาญ ปัจจุบันนี้อยู่ในเครือข่ายของ Hyatt ประเทศสหรัฐอเมริกา
 

โรงแรมรามา (Rama Hotel) 
ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2504 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นอาคารสูง 10 ชั้น มีห้องพักทั้งสิ้น 172 ห้อง บนเนื้อที่ 4 ไร่ มุมถนนสีลมตัดกับถนนสุรศุกดิ์ เจ้าของคือ คุณสุนีรัตน์ เตลาน ได้นำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่วงการโรงแรมในกรุงเทพฯ เช่น 

- ประตูบานเลื่อนไฟฟ้าอัตโนมัติที่ทางเข้า 
- สระว่ายน้ำ สร้างไว้บนระเบียง ชั้น 2 มีสวนหย่อมล้อมรอบ 
- ห้องจัดเลี้ยง Penthouse บนชั้น 10 สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ โดยรอบ 
- เป็นโรงแรมแห่งแรกของเมืองไทยที่เข้าเครือข่าย Chain Hotels บริหารโดยบรรษัทกลุ่มธุรกิจโรงแรมนานาชาติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น